คุณค่าที่ได้จากเรื่อง

คุณค่าด้านวรรณศิลป์
สะท้อนถึงอารมณ์โกรธแค้นและสะเทือนใจ (พิโรธวาทัง)
                                ยิ่งคิดเดือดดาลทะยานใจ                   ฉวยได้กระดานชนวนมา
ร่างฟ้องท่องเทียบให้เรียบร้อย                         ถ้อยคำถี่ถ้วนเป็นหนักหนา...

มีการพรรณนาถึงเรื่องฝันร้าย
...ครั้งนี้น่าจะมีอันตราย                    ฝันร้ายสาหัสตัดตำรา
พิเคราะห์ดูทั้งยามอัฐกาล                                  ก็บันดาลฤกษ์แรงเป็นหนักหนา
มิรู้ที่จะแถลงแจ้งกิจจา                                       กอดเมียเมินหน้าน้ำตากระเด็น...

ใช้ถ้อยคำเกิดความเศร้าสะเทือนใจสงสารในชะตากรรมของตัวละคร
(สัลลาปังคพิสัย)
...วันนี้แม่จะลาพ่อพลายแล้ว            จะจำจากลูกแก้วไปสูญสิ้น
พอบ่ายก็จะตายลงถมดิน                                   ผินหน้ามาแม่จะขอชม
 เกิดมาไม่เหมือนกับเขาอื่น                              มิได้ชื่นเชยชิดสนิทสนม... ...

การบรรยายโวหาร (เสาวรจนีย์)
ฟ้าขาวดาวเด่นดวงสว่าง                    จันทร์กระจ่างทรงกลดหมดมฆสิ้น
จึงเซ่นเหล้าข้าวปลาให้พรายกิน                      เสกขมิ้นว่านยาเข้าทาตัว
การพรรณนาโวหาร (นารีปราโมทย์)
                                จะเป็นตายง่ายยากไม่จากรัก             จะฟูมฟักเหมือนเมื่ออยู่ในกลางเถื่อน
                ขอโทษที่พี่ผิดอย่าบิดเบือน                                เจ้าเพื่อนเสน่หาจงอาลัย

เชิงเปรียบเทียบ (อุปมาโวหาร)
อีวันทองตัวมันเหมือนแก้ว               ถ้าตัดโคนขาดแล้วก็ใบเหี่ยว
ใครจะควรสู่สมอยู่กลมเกลียว                           ให้เด็ดเดี่ยวรู้กันแต่วันนี้

กวีแทรกอารมณ์ขันในการแต่ง (หาสยรส)
ขุนช้างเห็นข้าไม่มาใกล้                    ขัดใจลุกขึ้นทั้งแก้ผ้า
แหงนเถ่อเป้อปังยืนจังกา                                  ย่างเท้าก้าวมาไม่รู้ตัว
ยายจันงันงกยกมือไหว้                                      นั่นพ่อจะไปไหนพ่อทูนหัว
ไม่นุ่งผ่อนนุ่งผ้าดูน่ากลัว                                  ขุนช้างมองดูตัวก็ตกใจ

คุณค่าด้านสังคม / ค่านิยม
แสดงค่านิยมและความเชื่อของคนในสังคมสมัยอยุธยา แม้ว่าไม่อาจจะประเมินข้อเท็จจริงทางสังคมได้เช่นเดียวกันกับเอกสารทางประวัติศาสตร์   
แต่วรรณคดีเรื่องนี้สะท้อนแสดงให้เห็นโลกทัศน์ของครอบครัวขุนนางในสมัยกรุงศรีอยุธยา และรัตนโกสินทร์ว่ามีความจงรักภักดีต่อองค์พระมหากษัตริย์ กษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชยังมีอำนาจอยู่เหนือกฎหมาย (ถือว่าพระมหากษัตริย์เป็นเสมือนสมมุติเทพ)  
ค่านิยมความเชื่อเรื่องบาปกรรม เชื่อว่าความทุกข์ยาก เดือดร้อนด้วยเหตุต่างๆ นั้น เป็นผลมาจากกรรมเก่าที่ทำไว้  (อันเป็นความเชื่อที่ไม่ค่อยจะถูกต้องนัก เพราะกรรมที่ทำในชาติปัจจุบัน ก็ส่งผลให้มีอันเป็นไปต่างๆ ได้ มิใช่แต่กรรมเก่าเท่านั้น การเชื่อแต่กรรมเก่า อาจจะทำให้คนงอมืองอเท้า ไม่คิดสร้างกรรมใหม่ให้ดีกว่าเก่า)
ค่านิยมในเรื่องไสยศาสตร์ แม้จะนับถือพุทธศาสนาแต่ก็ยังเชื่อเรื่องภูตผีปีศาจ  คาถาอาคม  เรื่องโชคชะตาดวงของคน การพึ่งพาไสยศาสตร์ในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ การป้องกันภยันตราย การสู้รบทำสงคราม การใช้เครื่องรางเป็นเครื่องเสริมกำลังใจ หรือให้ประสบความสำเร็จตามใจปรารถนาของตน
และในสมัยนั้นจะมีการตีฆ้องบอกเวลา 
                ค่านิยมความเชื่อในจารีตประเพณี ที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา เช่น หญิงต้องมีสามีคนเดียว  หญิงที่มีสามีหลายคนหรือมีสามีแล้วไปเป็นชู้กับชายอื่น ก็จะถูกตราหน้าว่า เป็นหญิงแพศยาหรือกาลกิณี ไม่มีความเจริญ
                ค่านิยมความเชื่อเรื่องความฝัน ถือว่าไม่ว่าจะฝันดีหรือฝันร้าย ล้วนแต่เป็นลางบอกเหตุที่จะเกิดขึ้นแก่ตน หรือคนในครอบครัว 



ขอบคุณที่มา
https://sites.google.com/a/web1.dara.ac.th/thai/1-wrrnkhdi/1-3-khun-chang-khunphaen-txn-khun-chang-thway-dika