เนื้อหา ไตรภูมิพระร่วง

  ไตรภูมิพระร่วง  ตอน  มนุสภูมิ(การเกิดของมนุษย์)

             ไตรภูมิพระร่วง เดิมเรียกว่า เตภูมิกถา หรือ ไตรภูมิกถา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเปลี่ยนชื่อหนังสือเล่มนี้เป็น ไตรภูมิพระร่วง เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระร่วงจ้าแห่งกรุงสุโขทัยให้คู่กับหนังสือสุภาษิตพระร่วง



ผู้แต่ง
          หนังสือไตรภูมิพระร่วง เป็นวรรณคดีทางศาสนาที่สำคัญเล่มหนึ่ง ในสมัยสุโขทัย ซึ่งมีอิทธิพลต่อคนไทยมาก พระมหาธรรมราชาที่ ๑ (พญาลิไท) ได้ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นหลังจากที่ทรงผนวชแล้ว และขึ้นครองราชย์ได้ ๖ ปี ประมาณ พ.ศ. ๑๘๙๖

จุดมุ่งหมายในการแต่ง       มี ๒ ประการ เพื่อเทศนาโปรดพระมารดา เป็นการเจริญธรรมกตัญญูประการหนึ่ง อีกประการหนึ่ง เพื่อใช้สั่งสอนประชาชนให้มีคุณธรรม เข้าใจพุทธศาสนา และช่วยกันดำรง
พุทธศานาไว้ให้มั่นคง



ลักษณะคำประพันธ์

       ร้อยแก้ว ประเภทความเรียงสำนวนพรรณนา

เนื้อหา

         หนังสือไตรภูมิพระร่วง เป็นวรรณคดีพุทธศาสนา ที่พญาลิไททรงรวบรวมเนื้อหาสาระจากคัมภีร็ต่าง ๆ ในพุทธศาสนา ทั้งพระไตรปิฎก อรรถกถา และอื่น ๆ ไม่น้อยกว่า ๓๐ คัมภีร์ จึงจัดได้ว่าเป็นพระราชนิพนธ์ประเภทค้นคว้ารวบรวมที่ดีเล่มหนึ่ง เนื้อเรื่องเริ่มต้นด้วยคาถานมัสการเป็นภาษาบาลี มีบานแพนกบอกชื่อผู้แต่ง วันเดือนปีที่แต่ง ชื่อคัมภีร์ต่าง ๆ บอกจุดมุ่งหมายในการแต่ง แล้วจึงกล่าวถึงภูมิทั้ง ๓ คำว่า เตภูมิ หรือ ไตรภูมิ แปลว่า สามแดน คือ กามภูมิ รูปภูมิอรูปภูมิ ทั้ง ๓ ภูมิ แบ่งออกเป็น ๘ กัณฑ์ (กัณฑ์ = เรื่อง,หมวด,ตอน)แสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่ง ความไม่แน่นอนทั้งมนุษย์และสัตว์รวมทั้งสิ่งไม่มีชีวิต เช่น ภูเขา แม่น้ำ แผ่นดิน ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ความเปลี่ยนแปลงนี้กวีไทยเรียกว่า “ อนิจจลักษณะ ”ไตรภูมิพระร่วง เดิมเรียกว่า ไตรภูมิกถา / เตภูมิกถา หมายถึงเรื่องราวของโลกทั้ง ๓ ได้แก่ กามภูมิ รูปภูมิ อรูปภูมิ 
          กามภูมิ คือ โลกของผู้ที่ยังติดอยู่ในกามกิเลส แบ่งออกเป็น ๒ ฝ่าย ได้แก่    ๑.สุคติภูมิ      ๒. อบายภูมิ
               ๑.สุคติภูมิ ได้แก่
                    ๑.๑ มนุสสภูมิ ( โลกมนุษย์ )
                    ๑.๒ สวรรคภูมิ (ฉกามาพจรภูมิ)
                           ๑.๒.๑ จาตุมหาราชิกา
                           ๑.๒.๒ ดาวดึงส์
                           ๑.๒.๓ ยามา
                           ๑.๒.๔ ดุสิต
                           ๑.๒.๕ นิมมานรดี
                           ๑.๒.๖ ปรนิมมิตวสวัตดี

              ๒. อบายภูมิ ได้แก่
                   ๒.๑ นรกภูมิ ( มี ๘ ขุม )
                   ๒.๒ ดิรัจฉานภูมิ
                   ๒.๓ เปรตภูมิ
                   ๒.๔ อสูรกายภูมิ

          รูปภูมิ เป็นดินแดนของพรหมที่มีรูป มี ๑๖ ชั้น (โสฬสพรหม )
          อรูปภูมิ เป็นดินแดนของพรหมที่ไม่มีรูป มีแต่จิตหรือวิญญาณ

ทวีปที่มนุษย์อาศัยอยู่มี ๔ ทวีป ได้แก่

๑. อุตรกุรุทวีป อยู่ทางทิศเหนือของเขาพระสุเมรุ มนุษย์ที่อาศัยอยู่ ในทวีปนี้ มีลักษณะใบหน้าเป็นรูป ๔ เหลี่ยม รักษาศีล ๕ เป็นนิจ มีอายุ ประมาณ ๑,๐๐๐ ปี เป็นหนุ่มสาวอยู่เสมอ อาศัยอยู่ตามโพรงไม้ ไม่ต้องทำงานใด ๆ แต่งตัวสวยงาม มีกับข้าวและที่นอนเกิดขึ้นตามใจปรารถนา

๒. บูรพวิเทหทวีป อยู่ทางทิศตะวันออก ของภูเขาพระสุเมรุ มีใบหน้าตอนบนโค้งตัดลงมาเหมือนบาตร มีอายุ ประมาณ ๗๐๐ ปี

๓. อมรโคยานทวีป อยู่ทางทิศตะวันตก ของภูเขาพระสุเมรุ มีใบหน้าวงกลม คล้ายวงพระจันทร์ มีอายุ ประมาณ ๕๐๐ ปี

๔. ชมพูทวีป อยู่ทางทิศใต้ ของภูเขาพระสุเมรุ คือ มนุษย์โลกนี้เอง อายุขัยไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับการทำบุญหรือทำกรรม แต่ทวีปนี้ก็พิเศษกว่า ๓ ทวีปคือ เป็นที่เกิดของพระพุทธเจ้า พระจักรพรรดิราช และพระอรหันต์

การเกิดเป็นพรหมชั้นต่าง ๆ

๑. ปฐมฌานภูมิ ๓
     ๑.๑ ผู้เจริญปฐมฌานได้เพียงขั้นเล็กน้อย (ปริตฺตํ) จะเกิดเป็น พรหม ปาริสัชชา พรหมบริวาร
     ๑.๒ ผู้เจริญปฐมฌานได้ปานกลาง (มชฺฌิมํ) จะเกิดเป็นพรหมชั้นปุโรหิต
     ๑.๓ ผู้เจริญปฐมฌานได้ขั้นประณีต (ปณีตํ) จะเกิดเป็นพรหมชั้น ท้าวมหาพรหม หรือ มหาพรหมา
๒. ทุติยฌานภูมิ ๓
     ๒.๑ ผู้เจริญทุติยฌานได้เล็กน้อย จะเกิดเป็นพรหมชั้นปริตตาภา แปลว่า ผู้มีรัศมีน้อย
     ๒.๒ ผู้เจริญทุติยฌานได้ปานกลาง จะเกิดเป็นพรหมชั้น อัปปมาณาภา แปลว่า ผู้มีรัศมีมีประมาณไม่ได้
     ๒.๓ ผู้เจริญทุติยฌานได้ขั้นประณีต จะเกิดเป็นพรหมชั้น อาภัสสรา แปลว่า ผู้มี รัศมีเปล่งซ่านไป
๓. ตติยฌานภูมิ
     ๓.๑ ผู้เจริญตติยฌานภูมิได้เล็กน้อย จะเกิดเป็นพรหมชั้น ปริตตสุภา แปลว่า ผู้มีรัศมีความงามน้อย
     ๓.๒ ผู้เจริญตติยฌานได้ปานกลาง จะเกิดเป็นพรหม ชั้น อัปปมาณสุภา แปลว่า ผู้มีรัศมีความงามหาประมาณมิได้
     ๓.๓ ผู้เจริญตติยฌานได้ขั้นประณีต จะเกิดเป็นพรหมชั้น สุภกิณหา แปลว่า ผู้มีรัศมีงามกระจ่าง
การแบ่งฌานเป็นขั้นเล็กน้อย ปานกลางและประณีตนั้น อาศัยขั้นตอนการบรรลุถ้าบรรลุด้วยอิทธิบาทน้อยก็เป็นฌานเล็กน้อย ใช้ความเพียรขั้นกลางก็เป็นมัชฌิมฌาน ใช้ความเพียรขั้นอุกฤษฏ์ก็เป็นปณีตฌาน
๔. จตุตถฌานภูมิ ๓ อย่างย่อ และ ๗ อย่างพิสดาร ดังนี้
     ๔.๑ เวหัปผลา ผู้มีผลอันไพบูลย์
     ๔.๒ อสัญญีสัตว์ ผู้ไม่มีสัญญา
     ๔.๓ สุทธาวาส ๕ ที่อยู่ของท่านผู้บริสุทธิ์ คือ พระอนาคามี
๑. อวิหา ผู้ไม่เสื่อมฐานะของตน โดยกาลเล็กน้อย อยู่นาน (เจริญสัทธินทรีย์)
๒. อตัปปา ผู้ไม่เดือดร้อน (เจริญวิริยินทรีย์)
๓. สุทัสสา ผู้งดงามน่าทัศนา (เจริญสตินทรีย์ )
๔. สุทัสสี ผู้น่าทัศนาเพราะบริสุทธิ์ (สมาธินทรีย์)
๕. อกนิฏฐา ผู้ไม่เล็กน้อยด้อยกว่าใคร (ปัญญินทรีย์)

ไตรภูมิพระร่วง ตอน มนุสสภูมิ

การเกิดมนุษย์
ปฏิสนธิ ; กัลละ (ขนาด เศษ 1 ส่วน256 ของเส้นผม)
7 วัน ; อัมพุทะ (น้ำล้างเนื้อ)
14 วัน ; เปสิ (ชิ้นเนื้อ)
21 วัน ; ฆนะ (ก้อนเนื้อ, แท่งเนื้อ ขนาดเท่าไข่ไก่)
28 วัน ; เบญจสาขาหูด (มีหัว แขน2 ขา2) ครบ 1 เดือน
35 วัน ; มีฝ่ามือ นิ้วมือ ลายนิ้วมือ
42 วัน ; มีขน เล็บมือ เล็บเท้า (เป็นมนุษย์ครบสมบูรณ์)
50 วัน ; ท่อนล่างสมบูรณ์
84 วัน ; ท่อนบนสมบูรณ์
184 วัน ; เป็นเด็กสมบูรณ์ นั่งกลางท้องแม่ (6เดือน)

การคลอด
ท้อง 6 เดือนคลอด ;ไม่รอด (บ่ห่อนได้สักคาบ)
ท้อง 7 เดือนคลอด ;ไม่แข็งแรง (บ่มิได้กล้าแข็ง)

การเกิด
มาจากสวรรค์ ; ตัวเย็น ออกมาแล้วหัวเราะ
มาจากนรก ; ตัวร้อน ออกมาแล้วร้องไห้
กาลทั้ง 3 ได้แก่
     กาล 1 ; แรกเกิดในท้องแม่
     กาล 2 ; อยู่ในท้องแม่
     กาล 3 ; ออกจากในท้องแม่
* คนธรรมดา ; ไม่รู้ตัว จำไม่ได้ทั้ง 3 กาล
* พระปัจเจกโพธิเจ้า/ พระอรหันตาขีณาสพเจ้า / พระอัครสาวกเจ้า ; 2 กาลแรกรู้ตัว จำได้ แต่ลืมกาลที่ 3

ไตรภูมิพระร่วงกล่าวถึงกำเนิดของสิ่งมีชีวิต  4 ประการ คือ
                1. อัณฑชะ เกิดจากไข่ เช่น พวกนำ ไก่ ปลา และงู
                2. ชลามพุชะ เกิดจากปุ่มเปือกและมีรกห่อหุ้ม ได้แก่ ช้าง ม้า วัว ควาย และคน
                3. สังเสทชะ เกิดจากใบไม้ ต้นไม้ ดอกไม้ ละออง ดอกบัว หญ้าเน่า โลหิต เนื้อเน่าและเหงื่อไคลและที่เปียกชื้น ได้แก่ หนอน แมลง บุ้ง ริ้น ยุง คนที่เกิดแบบนี้จะไม่ได้เกิดในครรภ์มารดา หรือถ้าเกิดในครรภ์ก็จะไม่มีรกห่อหุ้ม แต่เมื่อเกิดมาแล้วก็เล็กเป็นทารกแล้วค่อยๆ เจริญวัยขึ้นเป็นปกติ
                4. อุปปาติกะ เกิดขึ้นเองแล้วโตเต็มที่ ไม่เติบโตขึ้นที่ละน้อยเหมือนสามพวกแรก  ได้แก่ สัตว์นรก เทวดา พรหม เทวดาซึ่งลงมาเกิดเป็นมนุษย์ผู้มีบุญใหญ่มักมีกำเนิดเป็นอุปาติกะ เช่น พระยาลวจังกราช กษัตริย์องค์แรกแห่งเมืองเชียงแสน แคว้นโยนกแต่เดิมเป็นเทวดา เมื่อได้รับบัญชาให้ลงมาเป็นกษัตริย์ก็ลงมาเกิดทันทีที่ลงมาถึงโลกมนุษย์ก็โตเป็นหนุ่ม


ไตรภูมิพระร่วงกล่าวว่า มนุษย์ส่วนใหญ่จะเกิดเป็นชลามพุชะ แต่ที่เกิดเป็นอุปปาติกะ เช่น นางอัมปาลิคณิกา (อัมพปาลิกา) หญิงโสเภณี ซึ่งต่อมามีบุตรชื่อ โกณฑัญกุมาร  ทั้งนางและบุตรได้ออกบวชในพระพุทธศาสนาต่อมา และบรรลุอรหันต์ทั้งคู่
                ในไตรภูมิพระร่วงกล่าวว่าสาเหตุที่สตรีจะตั้งครรภ์ได้นั้นมี 7 ประการ คือ
                1. เพราะเสพสังวาสอยู่ร่วมกับบุรุษ
                2. เพราะเอาเสื่อผ้า เครื่องนุ่งห่มของชายที่ตนรักมานุ่ง มาห่มชมเชยแทนตัวชาย
                3. เพราะได้กินน้ำราคะของชายที่ตนรัก
                4. เพราะถูกชายลูบคลำเนื้อตัวและท้อง แล้วตนมีใจยินดีรักชายนั้น
                5. เพราะตนรักบุรุษแล้วบุรุษนั้นกลายมาเป็นสตรีตนก็ยินดี
                6. เพราะตนรักบุรุษแล้วจึงตั้งครรภ์เพราะได้ยินเสียงบุรุษที่ตนรักใคร่ เจรจาพาทีก็เกิดยินดี
                7. เพราะได้ดมกลิ่นบุรุษที่ตนรัก 

                จะเห็นได้ว่าสาเหตุหลักคือ ข้อที่ 1 ส่วนข้อที่ 2-7 นั้นเป็นมูลเหตุที่จะทำให้เกิดสาเหตุข้อที่ 1 ได้ ดังนั้นคำสอนของคนโบราณนั้นไม่ได้ล้าสมัยเลย  7 ประการที่กล่าวมานั้นเป็นสิ่งที่สตรีควรระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง ในภาวะที่ยังไม่มีความพร้อมในการจะมีครอบครัว หรือวุฒิภาวะยังไม่พร้อมพอ  เนื่องจากปัญหาอื่น ๆ อาจจะตามมาอีก 

                ส่วนสตรีที่ยังสาวทุกคนจะตั้งครรภ์ได้ และลูกจะอยู่ในท้องน้อย เมื่อลูกจะปฏิสนธินั้นต้องเป็นระยะที่หมดประจำเดือน 7 วัน และถ้าตั้งท้องแล้วจะไม่มีประจำเดือนอีก สตรีที่มีสามีแล้วจึงควรมีลูก ส่วนสตรีที่ไม่สามารถมีลูกได้เป็นเพราะกรรมของผู้มาเกิดนั้นเป็นเหตุให้เกิดลมในท้องและพัดต้องครรภ์ก็แท้งตาย หรือบางครั้งก็มีตัวพยาธิมากิน

                สัตว์ที่ปฏิสนธิในครรภ์มารดาเมื่อแรกก่อตัวมีลักษณะเป็น กลละ มีขนาดเล็กที่สุดเหลือที่นึกเห็น (คือ เป็นเซลล์ ๆ เดียวนั่นเอง) เปรียบได้กับการนำเส้นผมชาวอุตตรกุรุทวีป (ซึ่งเล็กกว่าเส้นผมชาวชมพูทวีปถึงแปดเท่า) มาชุบน้ำมันงาอันงามใสแล้วสลัดเสียเจ็ดครั้ง ถ้าเหลือน้ำมันย้อยลงตรงปลายผมเท่าใด ก็ยังถือว่าใหญ่กว่า กลละ ถ้าจะเปรียบให้เท่ากันก็ต้องใช้ขนเนื้อทรายที่ชื่อ ชาติอุณนาโลม ซึ่งอยู่ที่เชิงเขาหิมพานต์ เนื้อทรายชนิดนี้มีขนเส้นเล็กกว่าผมชาวอุตรกุรุทวีป  เมื่อเอาขนเนื้อทรายนี้ชุบน้ำมันงาอันสวยงามแล้วเอามาสลัด 7  ครั้ง น้ำมันที่ย้อยลงมาปลายขนทรายจะมีขนาดใหญ่เท่ากลละ

                ต่อจากนี้ กลละ ก็เจริญเติบโตขึ้น เพราะมีธาตุทั้ง 4 (ดิน น้ำ ลม ไฟ) เมื่อครบ 7 วัน จะเป็นน้ำล้างเนื้อ ต่อมาอีก 7 วันจะข้นเป็นชิ้นเนื้อ ต่อมา 7 วัน แข็งเป็นก้อนดังไข่ไก่แล้วค่อยโตขึ้น   อีก 7 วันก็เป็นตุ่มราวหัวหูดขึ้น 5 แห่ง เรียกว่า ปัญจสาขา ( ศีรษะ มือ เท้า) อีก 7 วันเป็นฝ่ามือ นิ้วมือ แล้วจึงเป็นขนเป็นเล็บ และอื่นๆครบถ้วน 32 ประการ  เป็นตัวเด็กนั่งอยู่กลางท้องแม่ เอาหลังมาต่อหนังท้องแม่ อาหารที่แม่กินเข้าไปก่อนจะอยู่ใต้กุมารนั้น  อาหารที่แม่กินเข้าไปทีหลังจะอยู่เหนือกุมารและทับหัวกุมารนั้นอยู่ กุมารจึงได้รับความลำบากยิ่งนักเพราะในท้องแม่เป็นที่ชื้น เหม็นกลิ่นเน่าอันเกิดจากอาหารที่แม่กินเข้าไป และกลิ่นพยาธิที่อยู่ในท้องแม่อันได้ 80 ครอก  กุมารนั้นนั่งยองๆ กำมือทั้งสอง คู้ตัวต่อหัวเข่าทั้งสอง เอาหัวไว้เหนือเข่าเหมือนกับลิงเมื่อที่นั่งกำมือซบเซาเมื่อฝนตก อยู่ในโพรงไม้นั้น  และในท้องของแม่ก็ร้อนดังในหม้อต้ม แม้อาหารที่กินเข้าไปก็ไหม้และย่อยได้ด้วยอำนาจแห่งไฟนั้น แต่ตัวกุมารไม่ไหม้ตายก็เพราะด้วยบุญที่จะเกิดเป็นคนนั่นเอง กุมารเมื่ออยู่ในท้องแม่นั้น ไม่เคยได้หายใจเข้าออก มี่เคยได้เหยียดมือ เหยียดเท้าออกเลย ต้องทนทุกข์ทรมานเจ็บเนื้อเจ็บตัวดังคนที่เขาเอาใส่ไว้ในไหอันคับแคบ  ยามแม่เปลี่ยนอิริยาบถแต่ละครั้งไม่ว่าจะยืน เดิน นั่งหรือนอน กุมารนั้นก็จะเจ็บราวจะตาย เปรียบได้กับลูกงูที่หมองูเอาไปเล่น  สายสะดือของกุมารนั้นกลวงดังบัวสายที่ชื่อ อุบล ปลายไปติดเกาะที่หลังท้องแม่ ข้าว น้ำ และอาหารอันใดที่แม่กินและโอชารสก็เป็นน้ำชุ่มเข้าไปในสะดือ แล้วเข้าไปในท้องกุมารเพื่อเลี้ยงชีวิตให้เติบโตต่อไป

                กุมารนั้นต้องทนทุกข์ทรมานอยู่ในท้องนานนักหนา บ้างก็ 7 เดือน บ้าง ก็ 8 เดือน  9 เดือน 10 เดือน หรือครบขวบปี จึงคลอดออกจากท้องแม่  กุมารใดอยู่ในท้องแม่พียง 6 เดือน เมื่อคลอดแล้วก็อาจจะไม่รอดชีวิต  คนที่อยู่ในท้องแม่ 7 เดือน จะเป็นคนอ่อนแอ ไม่ทนแดดทนฝน  คนผู้ใดมาจากนรกมาเกิด เมื่ออยู่ในท้องแม่ แม่จะเดือดร้อนใจ ตระหนก และกระหาย

                คัมภีร์พรหมจินดากล่าวถึงอาหารแพ้ท้องว่า
                ถ้ามารดาอยากกินมัจฉะมังสา  เนื้อ ปลา  และสิ่งของสดคาว ท่านว่าสัตว์นรกมาปฏิสนธิ
                ถ้ามารดาอยากกินน้ำผึ้ง น้ำอ้อย น้ำตาล ท่านว่ามาแต่สวรรค์มาเกิด
                ถ้ามารดาอยากกินสรรพผลไม้ ท่านว่าดิรัจฉานมาปฏิสนธิ
                ถ้ามารดาอยากกินดิน ท่านว่าพรหมลงมาปฏิสนธิ
                ถ้ามารดาอยากกินสิ่งเผ็ดร้อน ท่านว่ามนุษย์มาปฏิสนธิ

                เมื่อกุมารในครรภ์เป็นสัตว์นรกมาเกิด แม่ก็พลอยร้อนไปด้วยและเมื่อคลอดออกมา กุมารนั้นร้อน ผู้ที่จากสวรรค์มาเกิด เมื่ออยู่ในท้องอยู่เย็นเป็นสุข มารดาก็อยู่เย็นเป็นสุข เมื่อคลอดออกมากุมารนั้นก็เย็นเนื้อเย็นใจ ผู้ใดที่เคยเป็นสัตว์นรกหรือเป็นเปรตมาก่อน เมื่อคลอดออกมาก็ร้องไห้ เพราะคิดถึงความลำบากที่ล่วงมาแล้ว ถ้ามาจากสวรรค์ก็หัวเราะก่อนเพราะคิดถึงความสุขแต่หนหลัง

                คนเราเมื่อมาเกิดในท้องแม่และเมื่อออกจากท้องแม่ไม่รู้เดียงสา ไม่รู้อะไรจำอะไรไม่ได้ทั้งหมด ส่วนผู้ที่จะมาเกิดเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันตาขีณาสพเจ้า และจะมาเป็นพระอัครสาวก จะรู้อะไรทุกอย่างตั้งแต่ถือกำเนิดมาเป็นคน  แต่เมื่อออกจากท้องแม่ก็ย่อมหลงลืมไปเช่นคนทั้งหลาย ส่วนพระโพธิสัตว์ในชาติสุดท้ายคือชาติที่จะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า จะรู้ทุกอย่างตั้งแต่แรกมาปฏิสนธิ เมื่ออยู่ในครรภ์และเมื่อออกจากครรภ์  เมื่ออยู่ในครรภ์ก็ไม่ได้นั่งจับเจ่าห่อตัวเหมือนกับคนทั้งหลาย แต่จะนั่งแพนงเชิง (นั่งขัดสมาธิ)  อย่างนักปราชญ์นั่ง มีรัศมีจากกายตัวเรืองงามดั่งทองทะลุพุ่งออกมาภายนอกท้อง พระมารดาและผู้อื่นก็แลเห็น รุ่งเรืองงดงามดังเอาไหมแดงมาร้อยแก้วขาว ความใสของแก้วทำให้มองเห็นไหมแดงที่อยู่ภายในได้ และเมื่อจะเสด็จออกจากครรภ์มารดาลมอันเป็นบุญนั้นก็ไม่ได้พัดเอาหัวมาเบื้องต่ำให้เท้าขึ้นข้างบนเหมือนฝูงคนทั้งหลาย แต่พระองค์จะเหยียดเท้าออกลุกขึ้นยืนและเสด็จออกจากครรภ์มารดา ส่วนพระโพธิสัตว์ในชาติอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ชาติสุดท้ายจะเป็นปกติเหมือนคนทั้งหลาย เมื่อใดที่พระโพธิสัตว์ซึ่งจะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าลงมาปฏิสนธิ หรือมาประสูติ แผ่นดินทั่วโลกธาตุจะหวั่นไหวเป็นเครื่องหมายหรือนิมิตบอกให้รู้ว่า พระโพธิสัตว์มาเกิด เรียกว่าแผ่นดินไหวทั่วทั้งหมื่นจักรวาล น้ำที่ชูแผ่นดินก็ไหว น้ำมหาสมุทรก็ฟูมฟอง เขาพระสุเมรุก็หวั่นไหวด้วยบุญสมภารของพระองค์

                ฝูงคนทั้งหลายเมื่อออกจากท้องแม่ จะเกิดเป็นลมกรรมชวาตพัดให้ศีรษะคล้อยต่ำลงสู่ที่จะออกอันคับแคบนักหนา ดุจดังฝูงสัตว์นรกอันยมบาลกุมตีนและหย่อนหัวลงในขุมนรกอันลึกได้ร้อยวา เมื่อคลอดออกมากุมารนั้นก็เจ็บเนื้อนักหนาเปรียบได้กับช้างสารที่เขาเข็นออกทางประตูเล็กและแคบ หรือมิฉะนั้นก็เปรียบกับสัตว์นรกที่ถูกคังไคยบรรพตบดทับไว้ เมื่อพ้นท้องแม่แล้วลมในท้องกุมารก็พัดออกก่อน ลมภายนอกจึงพัดเข้าไปถึงลิ้นกุมารนั้น กุมารจึงรู้จักหายใจเข้าออก  ฝูงคนทั้งหลายในโลกแม้องค์พระโพธิสัตว์เมื่อออกจากท้องแม่แล้ว ด้วยเหตุที่แม่มีใจรักเลือดในอกแม่จึงหลายเป็นน้ำนมไหลออกมาให้ลูกได้ดูดกิน 
                ลูกที่เกิดมา แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ
                1. อภิชาตบุตร   เฉลียวฉลาด นักปราชญ์ รูปงาม มั่งมี มียศถาบรรดาศักดิ์ มีกำลังยิ่งกว่าพ่อแม่
                2. อนุชาตบุตร มีความรู้ รูปโฉม และกำลังเท่ากับพ่อแม่
                3. อวชาตบุตร ลูกที่ถ่อยกว่าพ่อแม่ทุกประการ

                คนทั้งหลายแบ่งเป็น 4 ชนิด คือ
                1. คนนรก ผู้ทำบาป ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต  บาปนั้นตามทันถูกตัดตีนมือ และทุกข์โศกเวทนา
                2. คนเปรต : คนที่ไม่เคยทำบุญเลยตั้งแต่ชาติปางก่อน เกิดมาเป็นคนเข็ญใจ เสื้อผ้าแทบไม่มีพันกาย อดอยากไม่มีกิน รูปโฉมขี้ริ้วขี้เหร่ 
                3. คนเดรัจฉาน คนที่ไม่รู้บาป บุญ ไม่มีเมตตากรุณา ไม่รู้จักยำเกรงผู้ใหญ่ ไม่รู้จักปฏิบัติพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ ไม่รักพี่รักน้อง กระทำบาปอยู่เสมอ 
                4. มนุษย์: คนที่รู้จักบาปบุญ รู้กลัว ละอายต่อบาป รักพี่รักน้อง มีเมตตากรุณา  ยำเกรงผู้ใหญ่ พ่อแม่ ครูอาจารย์ รู้จักคุณพระรัตนตรัย 

                มนุษย์ทั้งหลายแบ่งออกเป็น 2 จำพวก คือ
                1. อันธปุถุชน เมื่อตายไปย่อมไปเกิดในจัตุราบาย คือ นรกภูมิ เปรตภูมิ ดิรัจฉานภูมิ อสุรกายภูมิ ถ้ามาเกิดเป็นมนุษย์ก็ย่อมทุพพลภาพ  เป็นคนอัปลักษณ์บัดสี เป็นคนโหดเพราะไม่รู้จักการทำบุญ
                2. กัลยาณปุถุชน  เมื่อตายไปก็ไปเกิดในสวรรค์

ลำดับการกำเนิดของมนุษย์ ในไตรภูมิพระร่วง  เริ่มจาก 
            ปฏิสนธิ                 = กัลละ (ขนาด เศษ ส่วน  256 ของเส้นผม)
            7 วัน       อัมพุทะ (น้ำล้างเนื้อ)
           14 วัน     = เปสิ (ชิ้นเนื้อ)
           21 วัน     ฆนะ (ก้อนเนื้อแท่งเนื้อ ขนาดเท่าไข่ไก่)
           28 วัน     = เบญจสาขาหูด (มีหัว แขน ขา 2) ครบ เดือน
           35 วัน      = มีฝ่ามือ นิ้วมือ ลายนิ้วมือ
          42 วัน       มีขน เล็บมือ เล็บเท้า (เป็นมนุษย์ครบสมบูรณ์)
          50 วัน       = ท่อนล่างสมบูรณ์
          84 วัน       =  ท่อนบนสมบูรณ์
         184 วัน      เป็นเด็กสมบูรณ์ นั่งกลางท้องแม่ ( เดือน)

         การคลอด -    ท้อง เดือนคลอด ทารกนั้นไม่รอด (บ่ห่อนได้สักคาบ)   ท้อง เดือนคลอด ทารกนั้นไม่แข็งแรง  (บ่มิได้กล้าแข็ง)

         ลักษณะเด่น  หนังสือไตรภูมิพระร่วง ถึงแม้ว่าเป็นวรรณคดีโบราณที่ใช้ภาษาไทยแบบเก่า และมีศัพท์ทางพระพุทธศาสนาปะปนอยู่มาก ทำให้ยากแก่การอ่านสำหรับผู้ที่ไม่มีพื้นฐานทางพุทธศาสนามาก่อนก็ตาม   แต่สำนวนพรรณนาแจ่มแจ้ง ไพเราะ ช่วยให้เกิดจินตภาพและทำให้เกิดความรู้สึกคล้อยตามไปด้วย  เช่น ตอนพรรณนาถึงความน่ากลัวในนรกภูมิ    และความสุขสบายในสวรรค์ เป็นต้น   ทุก ๆ ตอนที่กล่าวถึงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ผู้ทรงพระราชนิพนธ์ได้ทรงอธิบายตอนนั้นอย่างละเอียด   เช่น   ตอนพรรณนาลักษณะของเปรต ได้กล่าวเอาไว้ชัดเจน ดังนี้
           " เปรตลางจำพวกตัวเขาใหญ่   ปากเขาน้อยเท่ารูเข็มนั้นก็มี    เปรตลางจำพวกผอมหนักหนา   เพื่ออาหารจะกิน บมิได้ แม้ว่าจะขอดเอาเนื้อน้อย ๑ ก็ดี เลือดหยด ๑ ก็ดี บมิได้เลย   เท่าว่ามีแต่กระดูกและหนังพอกกระดูกภายนอกอยู่ไส้ หนังท้องนั้นเหี่ยวติดกระดูกสันหลังแล  ตานั้นลึกและกลวงดังแสร้งควักเสีย ผมเขานั้นยุ่งรุ่ยร่ายลงมาปกปากเขา มาตรว่าผ้าร้ายน้อยหนึ่งก็ดีและจะมีปกกายเขานั้นก็หามิได้เลย   เทียรย่อมเปลือยอยู่ ชั่วตนเขานั้นเหม็นสาบพึงเกลียดนักหนาแลเขานั้นเทียรย่อมเดือดเนื้อร้อนใจ เขาแล เขาร้องไห้ร้องครางอยู่ทุกเมื่อแล  เพราะว่าเขาอยากอาหารนักหนาแล "

ลักษณะเด่น

     หนังสือไตรภูมิพระร่วง ถึงแม้ว่าเป็นวรรณคดีโบราณที่ใช้ภาษาไทยแบบเก่า และมีศัพท์ทางพระพุทธศาสนาปะปนอยู่มาก ทำให้ยากแก่การอ่านสำหรับผู้ที่ไม่มีพื้นฐานทางพุทธศาสนามาก่อนก็ตาม แต่สำนวนพรรณนาที่ใช้ในหนังสือเล่มนี้มีความแจ่มแจ้ง ไพเราะ ช่วยให้เกิดจินตภาพหลายตอน และทำให้เกิดความรู้สึกคล้อยตามไปด้วยเช่น ตอนพรรณนาถึงความน่ากลัวในนรกภูมิ และความสุขสบายในสวรรค์ เป็นต้น ทุก ๆ ตอนที่กล่าวถึงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ผู้ทรงพระราชนิพนธ์ได้ทรงอธิบายตอนนั้นอย่างละเอียด กระบวนพรรณนาที่แจ่มแจ้งแลเห็นจริงจังอันควรยกมาเป็นตัวอย่าง เช่น ตอนพรรณนาลักษณะของเปรต ได้กล่าวเอาไว้ชัดเจน ดังนี้

     " เปรตลางจำพวก ตัวเขาใหญ่ ปากเขาน้อยเท่ารูเข็มนั้นก็มี เปรตลางจำพวกผอมหนักหนา เพื่ออาหารจะกินบมิได้ แม้ว่าจะขอดเอาเนื้อน้อย ๑ ก็ดี เลือดหยด ๑ ก็ดี บมิได้เลย เท่าว่ามีแต่กระดูกและหนังพอกกระดูกภายนอกอยู่ไส้ หนังท้องนั้นเหี่ยวติดกระดูกสันหลังแล ตานั้นลึกและกลวงดังแสร้งควักเสีย ผมเขานั้นยุ่งรุ่ยร่ายลงมาปกปากเขา มาตรว่าผ้าร้ายน้อยหนึ่งก็ดี และจะมีปกกายเขานั้นก็หามิได้เลย เทียรย่อมเปลือยอยู่ ชั่วตนเขานั้นเหม็นสาบพึงเกลียดนักหนาแลเขานั้นเทียรย่อมเดือดเนื้อร้อนใจเขาแล เขาร้องไห้ร้องครางอยู่ทุกเมื่อแล เพราะว่าเขาอยากอาหารนักหนาแล "

คุณค่าของหนังสือ

๑. ด้านภาษาและสำนวนโวหาร 

เป็นวรรณคดีเล่มแรกที่เรียบเรียงในลักษณะการค้นคว้าจากคัมภีร์ต่าง ๆ ถึง ๓๐คัมภีร์ จึงมีศัพท์ทางศาสนาและภาษาไทยโบราณอยู่มาก สามารถนำมาศึกษาการใช้ภาษาในสมัยกรุงสุโขทัย ตลอดจนสำนวนโวหารต่าง ๆ ไตรภูมิพระร่วงมีสำนวนหนักไปในทางศาสนาโวหารและพรรณนาโวหาร ผูกประโยคยาว และใช้ถ้อยคำพรรณนาดีเด่น สละสลวยไพเราะ ก่อให้เกิดความรู้สึกด้านอารมณ์สะเทือนใจและให้จินตภาพหรือภาพในใจอย่างเด่นชัด เช่น " บ้างเต้นบ้างรำบ้างฟ้อน ระบำบันลือเพลงดุริยดนตรี บ้างดีดบ้างสีบ้างตีบ้างเป่า บ้างขับศัพท์สำเนียง หมู่นักคุณจุณกันไปเดียรดาษพื้น ฆ้องกลองแตรสังข์ระฆังกังสดาลมโหระทึกกึกก้องทำนุกดี ที่มีดอกไม้อันตระการ่ต่าง ๆ สิ่ง มีจวงจันทน์กฤษณาคันธาทำนอง ลบองดังเทพยดาในเมืองฟ้า สนุกนี้ทุกเมื่อบำเรอกันบมิวาย "

๒. ด้านความรู้ 

     ๒.๑ ด้านวรรณคดี ทำให้คนชั้นหลังได้รับความรู้ทางวรรณคดี อันเป็นความคิดของคนโบราณ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานของวรรณคดีไทย เช่น พระอินทร์ แท่นบัณพุกัมพล ช้างเอราวัณ เขาพระสุเมรุ ป่าหิมพานต์ต้นปาริชาติ ต้นนารีผล นรก สวรรค์ เป็นต้น

     ๒.๒ ด้านภูมิศาสตร์ เป็นความรู้ทางภูมิศาสตร์ของคนโบราณ
โดยเชื่อว่าโลกมีอยู่ ๔ ทวีป ได้แก่ ชมพูทวีป บุรพวิเทหทวีป อุตตรกุรุทวีป และอมรโคยานทวีป โดยมีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลาง

๓. ด้านสังคมและวัฒนธรรม

     ๓.๑ คำสอนทางศาสนา ไตรภูมิพระร่วงสอนให้คนทำบุญละบาป เช่น การทำบุญรักษาศีลเจรฐสมาธิภาวนาจะได้ขึ้นสวรรค์การทำบาปจะตกนรก แนวความคิดนี้มีอิทะพลเหนือนจิตใจของคนไทยมาช้านาน เป็นเสมือนแนวการสอนศีลธรรมของสังคม ให้คนปฏิบัติชอบซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการอยู่ร่วมกันในสังคม

     ๓.๒ ค่านิยมเชิงสังคม อิทธิพลของหนังสือเล่มนี้ให้ค่านิยมเชิงสังคมต่อคนไทย ให้ตั้งมั่นและยึดมั่นในการเป็นคนใจบุญ มีเมตตากรุณา รักษศีล บำเพ็ญทาน รู้จักเสียสละ เชื่อมั่นในผล แห่งกรรม

     ๓.๓ ศิลปกรรม จิตรกรนิยมนำเรื่องราวและความคิดในไตรภูมิพระร่วงไปเขียนภาพสีไว้ในโบสถ์วิหาร โดยจะเขียนภาพนรกกไว้ที่ผนังด้านล่างหรือหลังองค์พระประธาน และเขียนภาพสวรรค์ไว้ที่ผนังเบื้องบนรอบโบสถ์วิหาร

๔. ด้านอิทธิพลต่อวรรณคดีอื่น

       มีหนังสืออ้างอิงทำนองไตรภูมิพระร่วง ที่มีผู้แต่งเลียนแบบอีกหลายเล่ม เช่น จักรวาลทีปนี ของ พระสิริมังคลาจารย์แห่งเชียงใหม่ไตรภูมิโลกวินิจฉัย ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และเล่าเรื่องไตรภูมิ เป็นต้น

     ไตรภูมิพระร่วงมีอิทธิพลสำคัญต่อแนวคิดของกวีรุ่นหลัง โดยนำความคิดในไตรภูมิพระร่วงสอดแทรกในวรรณคดีต่าง ๆ เช่น ลิลิตโองการแช่งน้ำ มหาเวสสันดรชาดก รามเกียรติ์ กากีคำกลอนขุนช้างขุนแผน ดังตัวอย่างต่อไปนี้

ลิลิตโองการแช่งน้ำ กล่าวถึงไฟบรรลัยกัลป์ล้างโลก
" นานาอเนกน้าวเดิมกัลป์ จักร่ำจักรพาฬหเมื่อไหม้
กล่าวถึงตะวันเจ็ดอันพลุ่ง น้ำแล้งไข้ขอดหาย "

รามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑ กล่าวถึงทวีปทั้ง ๔ ว่า
" สำแดงแผลงฤทธิ์ฮีกฮัก ขุนยักษ์ไล่ม้วนแผ่นดิน
ชมพูอุดรกาโร อมรโคยานีก็ได้สิ้น "

รามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒ กล่าวถึงปลาอานนท์
" เขาสุเมรุเอนเอียงอ่อนละมุน อานนท์หนุนดินดานสะท้านสะเทือน "
กากีคำกลอน กล่าวถึงแม่น้ำสีทันดร
" ....................................... ในสาครลึกกว้างกลางวิถี
แม้จะขว้างหางแววมยุรี ก็จมลงถึงที่แผ่นดินดาน
อันน้ำนั้นสุขุมละเอียดอ่อน จึงชื่อสีทันดรอันใสสาร
ประกอบด้วยมัจฉากุมภาพาล คชสารเงือกน้ำและนาคิน "
ขุนช้างขุนแผน กล่าวถึงป่าหิมพานต์
" ม่านนี้ฝีมือวันทองทำ จำได้ไม่ผิดนัยน์ตาพี่
เส้นไหมแม้นเขียนแนบเนียนดี สิ้นฝีมือแล้วแต่นางเดียว
เจ้าปักเป็นป่าพนาเวศ ขอบเขตเขาคลุ้มชอุ่มเขียว
รุกขชาติดาดใบระบัดเรียว พริ้งเพรียวดอกดกระดะดวง
ปักเป็นมยุราลงรำร่อน ฟ่ายฟ้อนอยู่บนยอดภูเขาหลวง
แผ่หางกางปีกเป็นพุ่มพวง ชะนีหน่วงเหนี่ยวไม้ชะม้อยตา
ปักเป็นหิมพานต์ตระหง่านงาม อร่ามรูปพระสุเมรุภูผา
วินันตกอัสกรรณเป็นหลั่นมา การวิกอิสินธรยุคุนธร "

คุณค่า
๑. คุณค่าด้านวรรณคดี เป็นความเรียงที่มีสัมผัสคล้องจอง มีความเปรียบเทียบที่ให้อารมณ์และเกิดจินตภาพชัดเจน เป็นภาพพจน์เชิงอุปมาและภาษาจินภาพ เห็นความงดงามของภาษา
๒. คุณค่าด้านศาสนา เป็นปรัชญาทางพระพุทธศาสนา ชี้ให้เห็นแก่นแท้ของชีวิตอาจนำมนุษยชาติให้หลุดพ้นจากวัฏสงสาร
๓. คุณค่าด้านจริยธรรม ไตรภูมิพระร่วงกำหนดกรอบแห่งความประพฤติเพื่อให้สังคมมีความสงบสุขผู้ปกครองแผ่นดินต้องมีคุณธรรม
๔. คุณค่าด้านประเพณีและวัฒนธรรม ความเชื่อที่ปรากฏในเรื่องไตรภูมิพระร่วงยังสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน เช่น ประเพณีงานศพ ภาพนรกและสวรรค์ก่อให้เกิดผลงานด้านจิตรกรรม ประติมากรรม และ
สถาปัตยกรรมจนถึงปัจจุบัน
๕. ไตรภูมิพระร่วง ตอน มนุสสภูมิ ทำให้เห็นได้ว่าแนวคิดของวรรณกรรมเล่มนี้เป็นไปตามหลักทางด้านวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการ
เกิดเป็นมนุษย์